ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน/ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลโพนเมือง

     

  

  



         เทศบาลตำบลโพนเมือง ร่วมกับสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด จัดตั้งศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน  เมื่อวันที่  26  พฤษภาคม  2558  โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งดังนี้
1. ให้การคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนตามที่กฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่  เช่น  การรับเรื่องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก  ร้องขอให้เป็นคนสาบสูญ  ร้องขอรับรองบุตรบุญธรรม  ร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์  เป็นต้น
2. ให้ความช่วยเหลือจัดหาทนายความอาสาว่าต่างแก้ต่างคดี
3. ให้คำปรึกษาแนะนำปัญหาด้านกฎหมาย
4. ดำเนินการประนอมข้อพิพาท
5. จัดทำร่างนิติกรรมสัญญาต่างๆ
6. เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย

สามารถติดต่อขอให้ดำเนินการตามกล่าวมาข้างต้นได้ที่ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน  เทศบาลตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ  จังหวัดร้อยเอ็ด  โทร 043659223 หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ  นายปัญญา  เป๊ะไธสง  โทร 0899820102

******************************************************************************************************************************************************************
ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลโพนเมือง

            ยุติธรรมชุมชน  หัวใจสำคัญของยุติธรรมชุมชน  คือ  การให้ความสำคัญกับชุมชน และการดึงศักยภาพของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะการร่วมคิด  ร่วมทำ ร่วมวางแผน ซึ่งแน่นอนมีความแตกต่างจากยุติธรรมในกระแสหลักหรือระบบยุติธรรมทางอาญา (กระบวนการเข้าสู่ศาล) ในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจน
            หลักของยุติธรรมชุมชน  มีดังนี้
๑. มีพื้นฐานจากการสร้างพลังของคนในชุมชนที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดในชุมชนของตนจากความศรัทธา การยกย่องให้เกียรติและการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
๒. มีกระบวนการทัศน์ในการอำนวยความยุติธรรมภายใต้กรอบความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice)
๓. การดำเนินกิจกรรมจะใช้พื้นที่ของชุมชนที่เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่สงบ เป็นพื้นที่รองรับในการแก้ปัญหานั้นๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน
๔. ระเบียบ กฎเกณฑ์ และกติกา ในการดำเนินการจะเป็นการกำหนดร่วมกันโดยประชาชนในชุมชนนั้นโดยคำนึงถึงความสอดคล้องตามประเพณี วัฒนธรรม และความรู้สึกถึงความเป็นธรรมร่วมกันของชุมชน
๕. การแก้ปัญหาไม่เน้นการต่อสู้เพื่อแพ้ชนะแต่จะเน้นการหาทางออกที่ทุกฝ่ายรับได้โดยให้ความสำคัญผู้กระทำผิดและผู้เสียหายโดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
๖. การอำนวยความยุติธรรมเน้นที่การแก้ปัญหา (Problem - Solving) ที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม
๗. การจัดองค์กรใช้ความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายในแนวราบ และมีรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นสูง
๘. มองความยุติธรรมเป็นประสบการณ์ร่วมของกลุ่มชนที่สามารถเข้าถึง เรียนรู้ และรับรู้ร่วมกันทั้งชุมชน
             บทบาทของเครือข่ายยุติธรรมชุมชน
๑. การป้องกันและควบคุมอาชญากรรมในชุมชน (Crime Control & Prevention) ด้วยการยับยั้งหรือชะลอสถานการณ์มิให้เกิดความขัดแย้ง ข้อพิพาท หรือการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น โดยการเฝ้าระวัง ป้องกัน การควบคุมสถานการณ์ การจัดระเบียบชุมชน และการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เช่น ระเบียบ/กฎหมายที่จำเป็น กระบวนการยุติธรรม สิทธิและหน้าที่พลเมือง เป็นต้น โดยการสนธิกำลังหรือการบรูณาการร่วมกันของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในรูปแบบศูนย์ยุติธรรมชุมชน (Community Justice Centers)
๒. การรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และรับแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมาย การทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ แล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และติดตามผลการดำเนินงานแจ้งให้ผู้ร้อง/ผู้แจ้งทราบเป็นระยะๆ
๓. การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) โดยการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทตามหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือหลักสันติวัฒนธรรม (ดูแลรักษา/สร้างสัมพันธภาพระหว่างเหยื่อ ผู้กระทำผิด และชุมชน)
๔. การเยียวยาหรือเสริมพลังแก่เหยื่ออาชญากรรมและความรู้สึกของชุมชน (Community&Victim Empowerment) ด้วยการให้ความเข้าใจกำลังใจช่วยเหลือ หรือสนับสนุนใดๆ ให้เหยื่ออาชญากรรมและชุมชนนั้นมีความรู้สึกที่ดีและใช้ชีวิตเป็นปกติต่อไปรวมทั้งการให้ความรู้หรือคำแนะนำในการยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือจากทางราชการที่เกี่ยวข้องเช่น เงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา เงินกองทุนยุติธรรม เป็นต้น
๕. การรับผู้พ้นโทษหรือผู้ถูกคุมประพฤติกลับสู่ชุมชน (Reintegration) เพื่อให้บุคคลนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน/สังคมได้เป็นปกติตามความเหมาะสม และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก (การคืนคนดีสู่สังคม)
               ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบล มีอำนาจหน้าที่  ดังนี้
๑. ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาและการบริหาร จัดการที่ศูนย์ยุติธรรมชุมชนกลางกำหนด รวมทั้งการประสานส่วนราชการ หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอำนวยการในการปฏิบัติงานของศูนย์ยุติธรรมชุมชนหมู่บ้าน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
๒. จัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและโครงการ เพื่อขับเคลื่อนบทบาทหน้าที่ของศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบล
๓. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และจิตสำนึกที่ดีด้านการยุติธรรมในตำบล
๔. จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนการพัฒนาศูนย์ยุติธรรมชุมชนในระดับตำบล
๕. ติดตามและประเมินผลงานตามแผนปฏิบัติการและโครงการภายใต้การดำเนินการของศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบล
๖. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่
๗. ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนในข้อกฎหมาย รวมทั้งการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท หรือระงับข้อขัดแย้งในตำบล
๘. รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน จำแนกและส่งต่อไปยังหน่วยงานตามที่คณะกรรมการกำหนด
๙. ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นหรือส่งต่อกรณีรับเรื่องราวร้องทุกข์ของเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ การค้ามนุษย์ และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
๑๐.รับแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดคดีอาญาในหมู่บ้านตลอดจนการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
๑๑.ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในตำบล
๑๒.ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชนอำเภอ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

คลังบทความของบล็อก